ส. ศิวรักษ์วิจารณ์มหาเถรสมาคมมีมติให้พระธัมมชโยพ้นผิด ถือเป็นความ “อัปลักษณ์”
นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส. ศิวรักษ์ แสดงความเห็นผ่านหน้าเฟซบุ๊ค Sulak Sivaraksa กรณีที่มหาเถรสมาคมมีมติให้พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ไม่มีความผิดต้องปาราชิก ตามที่พระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชได้ระบุไว้ เมื่อปี 2542 นั้น
ส. ศิวรักษ์มีความเห็นว่า กรรมการมหาเถรสมาคมที่ลงมติดังกล่าว น่าจะมีมลทินกระทำผิดวินัยสงฆ์แบบเดียวกันกับพระธัมมชโย จึงขัดขืนไม่ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช โดยนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มหาเถรสมาคมทำเช่นนี้ เช่นในกรณีของพระกิตติวุฒิโฑในอดีต ที่มหาเถรสมาคมให้พ้นโทษปาราชิกเมื่อครั้งนำเข้ารถยนต์หนีภาษี และในกรณีของเณรคำ ที่ได้ติดสินบนพระสังฆาธิการหลายรูปด้วยการซื้อรถยนต์ถวาย จนผู้ปกครองสงฆ์ไม่มีการสั่งลงโทษแต่อย่างใด
ส. ศิวรักษ์ ยังกล่าวย้ำด้วยว่า สิ่งที่สังคมไทยต้องการในเวลานี้ คือพระภิกษุสงฆ์ที่ทรงไว้ด้วยศีลาจารวัตร ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่เนื้อหาสาระ หากไม่เช่นนั้นแล้ว พุทธศาสนาก็ย่อมจะสั่นคลอนและถึงกับอัปปางลงได้ ภายในชั่วอายุของกรรมการมหาเถรสมาคมชุดนี้เอง
ไทยรัฐทีวีรายงานว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ระบุว่า จากนี้ไปจะตรวจสอบการทำหน้าที่ของคณะกรรมการมหาเถรสมาคมว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เหตุใดจึงวินิจฉัยให้พระธัมมชโยพ้นผิด เพราะเท่ากับเป็นการยกเลิกพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชเมื่อปี 2542 และในฐานะที่มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมาย ไม่ได้ตั้งโดยพุทธบัญญัติ จะต้องถูกตรวจสอบ
เมื่อวานนี้ ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) มีมติว่าพระธัมมชโย ไม่ต้องปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุ เนื่องจากได้มีการคืนทรัพย์สินทั้งหมดให้กับทางวัดพระธรรมกายแล้ว และไม่มีเจตนาโกง จึงไม่ถือเป็นการขัดต่อพระลิขิตของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ลงวันที่ 26 เมษายน 2542 แต่อย่างใด โดยพระพรหมเมธี กรรมการและโฆษก มส. ย้ำว่า มส. มีมติยืนตามคำตัดสินเดิมเมื่อปี 2549 ขออย่านำเรื่องเดิมมาพูดอีก เพราะบ้านเมืองกำลังจะปรองดอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ โดยเรื่องวินัยสงฆ์นั้นต้องดูที่เจตนา
ที่มา บีบีซีไทย - BBC Thai